Persepolis เป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน
Persepolis เป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 สร้างจากการ์ตูนในชื่อเดียวกันของมาร์จาเน ซาตราปี (Marjane
Satrapi) นักเขียนการ์ตูนหญิงชาวอิหร่านซึ่งนำเรื่องราวของตัวเธอตั้งแต่เด็กจนโตมาวาดเป็นลายเส้นของเธอ ชื่อเรื่องมาจากชื่อ
เมืองแพร์ซโพลิส เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่าน
มาร์จาเน ซาตราปี เกิดในครอบครัวชาวอิหร่านที่มีฐานะดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าชาห์ นัสเซอร์ อัล ดิน (Nasser-al-Din
Shah) พระเจ้าชาห์แห่งเปอร์เซีย ระหว่าง ค.ศ. 1848-1896 เมื่ออายุได้ 14 ปี เกิดการปฏิวัติอิหร่าน และเกิดสงครามอิรัก-
อิหร่าน ครอบครัวของเธอตัดสินใจส่งเธอไปเรียนต่อที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ขณะที่ครอบครัวของเธอยังคงปักหลักอยู่ที่อิหร่าน
ต่อไป เธอเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัย และเดินทางกลับประเทศ แต่เธอกลับรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในประเทศ จนไม่รู้สึกมีความ
สุข เมื่อเธออายุ 24 ปี เธอจึงตัดสินใจออกจากบ้านไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส
มาร์จาเน ซาตราปี นำเรื่องราวในชีวิตของเธอมาเขียนเป็นการ์ตูน 2 เล่ม คือ
- Persepolis: The Story of a Childhood เป็นเรื่องราวของเธอในช่วงนับตั้งแต่เธอเกิดจนเธอถูกส่งไปยังออสเตรีย
- Persepolis 2: The Story of a Return เป็นเรื่องราวของเธอกับชีวิตในออสเตรีย จนเรียนจบกลับมาใช้ชีวิตต่อในบ้านเกิด
และนำมาสร้างเป็นแอนิเมชันขาวดำ สะท้อนสังคมอิหร่านอย่างตรงไปตรงมา ออกฉายในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.
2550 ท่ามกลางการประท้วงโดยทางการอิหร่าน และได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นการ์ตูนที่ดีที่สุดแห่งปี
Persepolis เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2007 ได้รางวัล Prize of the Jury และเข้ารอบสุดท้ายในสายการประกวดหลัก Palme d’Or
หนังเรื่องนี้สร้างจากการ์ตูนภาพอัตชีวประวัติชื่อเดียวกันของ Marjane Satrapi ศิลปินหญิงชาวอิหร่านที่โยกย้ายไปพำนักอาศัยและ
ทำงานอยู่ในฝรั่งเศสหลังพบคำตอบว่าเธอไม่สามารถใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้อีกต่อไปแล้ว โดยเธอได้เล่าเรื่องราว
ชีวิตในช่วงเปลี่ยนผ่านวัย จากวัยเด็กสู่วัยสาว และจากวัยสาวสู่วัยผู้ใหญ่ภายใต้บรรยากาศการเปลี่ยนแปลงทางเมืองของอิหร่าน อัน
เป็นมูลเหตุสำคัญให้เธอต้องระหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลาหลายขวบปี ซึ่งใน Persepolis ฉบับหนังนี้
Marjane Satrapi ก็มีโอกาสได้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับร่วมกับ Vincent Paronnaud เพื่อนนักวาดการ์ตูนชาวฝรั่งเศสอีกคน
มาร์จาน กำลังรอขึ้นเครื่องบิน ณ สนามบินแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส เธอได้หวนคิดถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมา เธอเติบโตในครอบครัว
ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ในช่วงค.ศ. 1978 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านเกิดการปฏิวัติอิสลาม
***มีการเปิดเผยส่วนสำคัญของภาพยนตร์***
เหตุการณ์โค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี นำโดยกลุ่มประชาชน นักศึกษาที่ไม่พอใจการบริหารงาน แม้ว่าโครงการ
ของชาห์จะได้รับการยอมรับในระยะแรก ซึ่งทำให้อิหร่านเจริญขึ้น แต่ผลจากการปฏิวัติขาว คือ คนในราชวงศ์และข้าราชบริพารใกล้
ชิดได้รับที่ดินมหาศาล สถานที่บันเทิงหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายศาสนาไม่พอใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ผล
ประโยชน์กลับตกอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงและกษัตริย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมขับไล่กษัตริย์ชาห์ลงจากบัลลังก์ และสถาปนาตนเองเป็นรัฐ
อิสลาม
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นสาเหตุของสงครามอิหร่าน-อิรัก อิรักเข้ามารุกราน นำโดย ซัดดัม ฮุสเซน ใช้จังหวะในช่วงที่อิหร่านมีการ
เปลี่ยนผู้นำมาเป็นโอกาสในการเข้าโจมตีด้วยขีปนาวุธ อิหร่านในตอนนั้นต้องเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งข้อบังคับภายใต้กฎหมาย
อิสลาม และสงครามกลางเมือง ครอบครัวของมาร์จานจึงตัดสินใจส่งเธอเรียนต่อที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ชีวิตในวัยเด็กของมาร์จานก็เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่มีความคิดจากการหล่อหลอมของผู้ใหญ่ จากเดิมที่เธอเลือกจะเข้าข้างกษัตริย์ชาห์
เพราะเธอถูกสั่งสอนมาจากโรงเรียนว่าพระองค์ทรงถูกเลือกโดยพระเจ้าจากเบื้องบน พ่อของเธอได้เล่านิทานชวนสยองที่ว่าความ
สวยงามเป็นแค่หน้าฉาก ภาพนิทานที่พ่อเล่าชวนให้นึกถึงคุกที่ขังลุงของเธอที่เคยภาคภูมิใจว่านักโทษการเมืองนั้นคือวีรบุรุษ เธอ
จึงเปลี่ยนความเชื่อและยังลอกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากผู้ใหญ่ด้วยการยกพวกเพื่อน ๆ ไปตีเด็กผู้ชายวัยเดียวกันที่เป็นญาติกับ
กษัตริย์ชาห์
ความรู้สึกหลังรับชมภาพยนตร์
ภาพยนตร์เลือกที่ใช้โทนสีที่ชวนให้รู้สึกหม่นหมอง แต่เมื่อฟังน้ำเสียงที่บรรยายแล้วชวนให้เข้าใจได้ว่าความรู้สึกหม่นหมองคือการ
คิดถึงบ้านเกิด แม้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิหร่านทั้งการปฏิรูปศาสนาอิสลาม ทำให้การเมืองการปกครองเปลี่ยนไปในรูปแบบ
อนุรักษ์นิยม และความรุนแรงจากสงครามเป็นเหตุให้ครอบครัวของมาร์จาน หรือผู้กำกับของเรื่องไม่ต้องการให้เธออยู่ที่นี่
แต่สาเหตุที่แท้จริงแล้วเธอรักบ้านเกิดมากจนเกินกว่าจะเห็นรูปแบบบ้านเมืองที่เป็นเช่นนี้ได้ ทำให้เธอไม่สามารถอยู่ที่บ้านเกิดของ
ตนได้อีกต่อไป ผลงานชิ้นนี้จึงอาจจะเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกในวัยเยาว์ผ่านภาพยนตร์แอนิเมชัน โดยเลือกที่จะสะท้อนเหตุการณ์
จริงที่เกิดขึ้นในอิหร่าน เปรียบเสมือนภาพ Flashback จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนัง Coming of Age วัยเยาว์ในอิหร่านของเธอ
ถึงแม้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ใน Persepolis จะฟังดูดุดันประชดประชันสัญชาติของตัวเองโดยไม่ยำเกรงแบบเดียวกับที่ผู้กำกับ
Masahiro Kobayashi เคยทำเอาไว้หนังญี่ปุ่นเรื่อง Bashing (2005) แต่เอาเข้าจริงแล้วน้ำเสียงการบอกเล่าของหนังกลับเป็นไป
อย่างอ่อนโยนละมุนละไมสะท้อนถึงความรู้สึกภายในของ Marjane ในฐานะผู้ถูกกระทำได้อย่างน่าเคารพ บุคลิกภายนอกของเธอ
อาจจะแลดูเป็นหญิงมั่นไม่แคร์สายตาใคร ๆ แต่ในส่วนลึกแล้ว Marjane ยังมีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยญาติพี่น้องร่วมชาติของตัวเอง
อย่างไม่สามารถตัดขาดได้ จุดประสงค์ของการ ‘แฉ’ ประสบการณ์ส่วนตัวของเธอใน Persepolis จึงไม่ผิดกับการประกาศให้โลกได้
รับรู้ว่าชาวอิหร่านนั้นอาจไม่ได้คิดอ่านแบบเดียวกันกับผู้นำประเทศของพวกเขาเสมอไป ภาพที่ปรากฏออกมาในสื่อต่าง ๆ จึงยังไม่
สามารถเป็นตัวแทนของความรู้สึกของคนทั้งประเทศได้ เสียงของ Marjane ในหนังเรื่องนี้จึงเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ทว่ายิ่งใหญ่ที่
สามารถสะท้อนถึงความในใจของชาวอิหร่านอีกหลาย ๆ คนได้อย่างน่ารับฟัง
Marjane Satrapi และ Vincent Paronnaud นำเสนอเรื่องราวทั้งหมดนี้ผ่านการออกแบบงาน animation อันโดดเด่นเป็น
เอกลักษณ์ ผู้กำกับทั้งสองเลือกใช้ภาพขาวดำมาบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของหนังซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างพลังอันหม่นมืดของ
สถานการณ์ความรุนแรงได้อย่างน่าสะพรึงแล้ว มันยังรักษาลีลาของงานการ์ตูนต้นฉบับเอาไว้ได้อย่างสัตย์ซื่ออีกด้วย ถึงแม้ว่า
เหตุการณ์โดยส่วนใหญ่จะถูกถ่ายทอดกันด้วยภาพขาวดำ แต่ Marjane Satrapi และ Vincent Paronnaud ก็ยังสามารถสรรหา
เทคนิคลีลาอันหลากหลายมาทำให้การ์ตูนเรื่องนี้มีองค์ประกอบเชิงศิลป์ที่งดงามอลังการได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเลียน
แบบการเคลื่อนไหวสองมิติของการเชิดหุ่นเงาแบบหนังใหญ่และหนังตะลุงในฉากฝรั่งพบกษัตริย์ชาห์ คล้ายคลึงกับลีลา
animation เงาใน The Adventures of Prince Achmed (1926) ของ Lotte Reiniger การออกแบบตัวละคร ‘เฝ้าระวังทาง
วัฒนธรรม’ ทั้งสองให้แลดูขบขันเกินจริง รวมทั้งการใช้ภาพสมมาตรแสดงการสู้รบกันโดยไม่มีวันแพ้ชนะของทัพทหารฝ่ายซ้ายและ
ฝ่ายขวาได้อย่างสร้างสรรค์ ไปจนถึงการออกแบบฉากหลังในหลาย ๆ ช่วงด้วยศิลปะแบบ Persia อันวิจิตรตระการตา เรียกได้ว่าเป็น
งาน animation ลีลาใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาทำให้อะไร ๆ แลดูเหมือนจริงอย่างใน animation
ร่วมสมัยเรื่องอื่น ๆ กันเลย